วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2560

การทาบกิ่ง

การทาบกิ่ง (GRAFTING) การทาบกิ่ง เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ให้ได้ต้นพันธุ์ที่ให้ได้ต้นพันธุ์ดีซึ่งมีลักษณะทางสายพันธุ์เหมือนต้นแม่วิธีหนึ่ง โดยกิ่งพันธุ์ดีจะทำหน้าที่เป็นลำต้นของต้นพืชใหม่ ส่วนต้นตอที่นำมาทาบติดกับกิ่งของต้นพันธุ์ดีจะทำหน้าที่เป็นระบบราก เพื่อหาอาหารให้กับต้นพันธุ์ดี วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทาบกิ่ง ๑. มีดบางหรือมีดที่ใช้สำหรับขยายพันธุ์ ๒. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง ๓. แผ่นพลาสติกขนาด ๐.๕ x ๑๒ นิ้ว หรือเทปพลาสติกสำเร็จรูปเป็นม้วน ๔. ต้นตอหรือตุ้มทาบ ๕. เชือกหรือลวด วิธีการทาบกิ่ง แบ่งออกเป็น ๒ แบบ คือ ๑. การทาบกิ่งแบบประกับ (Approach grafting) การทาบกิ่งแบบนี้ทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีต่างก็ยังมีรากและยอดอยู่ทั้งคู่ มักใช้ในการทาบกิ่งไม้ผลที่รอยแผลประสานกัน ช้า เช่น การทาบกิ่งมะขาม เป็นต้น สำหรับวิธีการทาบมี ๓ วิธีดังนี้ ๑.๑ วิธีทาบกิ่งแบบฝานบวบ (Spliced approach grafting) ๑. เลือกต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ให้บริเวณที่จะทาบมีขนาดพอ ๆ กันและมีลักษณะเรียบตรง ๒. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเข้าไปในเนื้อไม้เล็กน้อย รอยแผลยาวประมาณ ๑-๒ นิ้ว ลักษณะแผลรอยเฉือนคล้ายรูปโล่ ๓. เตือนต้นตอในทำนองเดียวกัน และให้มีความยาวเท่ากับแผลบนกิ่งพันธุ์ดี ๔. มัดต้นตอและยอดพันธุ์ดีเข้าด้วยกันโดยจัดแนวเยื่อเจริญให้สัมผัสกันมากที่สุด ๕. พันรอบรอยด้วยพลาสติกให้แน่น ๑.๒ วิธีการทาบกิ่งแบบเข้าลิ้น (Tongued approach grafting) เป็นวิธีที่คล้ายวิธีแรก แต่ต่างกันตรงที่รอยแผลของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีจะทำเป็นลิ้น เพื่อให้สามารถสอดเข้าหากันได้ ๑. เลือกต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ให้บริเวณที่จะทาบมีขนาดพอ ๆ กัน ๒. เฉือนต้นตอให้มีแผลเป็นรูปโล่ยาวประมาณ ๑-๒ นิ้ว พยายามเฉือนให้เรียบอย่าให้เป็นคลื่น ๓. จาก ๑/๓ ของปลายรอยแผลที่เฉือนนี้ เฉือนให้เป็นลิ้นลงมาเสมอกับโคนรอยแผลด้านล่าง ๔. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีในลักษณะเดียวกัน แต่ให้ลิ้นที่เฉือนกลับลงในลักษณะตรงกันกับลิ้นของต้นตอ ๕. สวมลิ้นของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน โดยจัดให้แนวเยื่อเจริญสัมผัสกัน ๖. พันรอบรอยแผลด้วยพลาสติกให้แน่น ๑.๓ วิธีทาบกิ่งแบบพาดร่อง (Inlay approach grafting) การทาบกิ่งวิธีนี้มักใช้เพื่อการเปลี่ยนยอด หรือการเสริมรากให้ต้นไม้ที่มีระบบรากไม่แข็งแรง หรือระบบรากถูกทำลาย วิธีทางกิ่งปฏิบัติได้ดังนี้ ๑. กรีดเปลือกต้นตอตรงบริเวณที่จะทำการทาบ ให้มีความยาวประมาณ ๒-๓ นิ้ว โดยกรีดเป็นสองรอยให้ขนานกัน และให้รอยกรีห่างกันเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งพันธุ์ดี ๒. กรีดเปลือกตามขวางตรงหัวและท้ายรอยกรีดที่ขนานกัน แล้วแกะเอาเปลือกออก ๓. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีให้เข้าไปในเนื้อไม้เป็นรูปโล่ และให้ยาวเท่ากับความยาวของแผลที่เตรียมบนต้นตอ ๔. ทาบกิ่งพันธุ์ดีตรงบริเวณที่เฉือนนั้นให้เข้าในแผลบนต้นตอ ๕. ใช้ตะปูเข็มขนาดเล็กตอกกิ่งพันธุ์ดีติดกับต้นตอ แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น ๖. เมื่อกิ่งพันธุ์ดีและต้นตอติดกันดีแล้ว จึงทำการตัดต้นตอเหนือรอยต่อและตัดกิ่งพันธุ์ดีใต้รอยต่อกรณีต้องการเปลี่ยนเป็นยอดพันธุ์ดี ๒. การทาบกิ่งแบบเสียบ (Modified approach grafting) เป็นวิธีทาบกิ่งที่แปลงมาจากวิธีการทาบกิ่งแบบประกับ โดยจะทำการตัดยอดต้นตอออกให้เหลือสั้นประมาณ ๓-๕ นิ้ว เพื่อลดการคายน้ำ สำหรับวิธีทาบแบบเสียบที่นิยมปฏิบัติกันมี ๓ วิธีคือ ๒.๑ การทาบกิ่งแบบฝานบวบแปลง (Modified spliced approach grafting) เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากเพราะสามารถทำได้รวดเร็ว และใช้กับพืชได้ทั่ว ๆ ไป พืชที่นิยมใช้วิธีทาบแบบนี้ ได้แก่ มะม่วง มะขาม ขนุน ทุเรียน เป็นต้น โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้ ๑. นำต้นตอขึ้นไปทาบโดยกะดูบริเวณที่จะทำแผลทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ๒. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปโล่เข้าเนื้อไม้เล็กน้อย และให้แผลยาวประมาณ ๑.๕-๒ นิ้ว ๓. เฉือนต้นตอเฉียงขึ้นเป็นปากฉลามให้แผลยาวเท่ากับแผลที่เตรียมบนกิ่งพันธุ์ดี ๔. นำต้นตอประกบกับกิ่งพันธุ์ดี โดยให้แนวเยื่อเจริญทับกันด้านในด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน ๕. พันรอบรอยแผลด้วยพลาสติกให้แน่นและมัดต้นตอเข้ากับกิ่งพันธุ์ดี ๒.๒ การทาบกิ่งแบบเข้าบ่าขัดหลัง (Modified veneer side approach grafting) วิธีการทาบกิ่งแบบนี้คล้ายกับวิธีฝานบวบแปลง แต่แตกต่างกันตรงรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดีจะเฉือนทำเป็นบ่าหรือเงี่ยงปลา ส่วนของต้นตอจะเฉือนด้านหลังของรอยแผลปากฉลามออกเล็กน้อย พืชที่นิยมใช้เช่นเดียวกับแบบฝานบวบแปลง โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้ ๑. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเอียงขึ้นเข้าเนื้อไม้ประมาณ ๑/๔ ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งความยาวแผลประมาณ ๑.๕-๒ นิ้ว เฉือนแผลด้านบนทำเป็นบ่าหรือเงี่ยงปลาประมาณ ๑/๔ ของความยาวของแผล ๒. เฉือนต้นตอเป็นรูปปากฉลามตัดด้านหลังเอียงขึ้นเข้าหาปากฉลามขนาดความยาวแผลประมาณ ๑/๔ ของแผลปากฉลาม ๓. นำต้นตอที่ปาดเรียบร้อยแล้วสอดเข้าไปขัดกับบ่าหรือเงี่ยงปลาที่ทำไว้ แล้วจัดให้แนวเยื่อเจริญสัมผัสกันมากที่สุด ๔. พันด้วยพลาสติกให้แน่น ๒.๓ การทาบกิ่งแบบเสียบข้างแปลง (Modified side approach grafting) วิธีการทาบแบบนี้มีขั้นตอนต่าง ๆ เหมือนวิธีแรก แต่แตกต่างกันที่ลักษณะเฉือนต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี โดยมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้ ๑. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นมุมเอียงขึ้นประมาณ ๒๐-๓๐ องศา เข้าไปในเนื้อไม้ประมาณ ๑/๔ ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ความยาวแผลประมาณ ๑.๕-๒ นิ้ว ๒. เฉือนต้นตอเป็นรูปลิ่มโดยให้แผลส่วนที่สัมผัสด้านในาวกว่าแผลหน้าที่สัมผัสด้านนอก ๓. สอดต้นตอเข้าไปในเนื้อไม้แบบตอกลิ่ม โดยให้แนวเยื่อเจริญสัมผัสกันมากที่สุด ๔. พันด้วยพลาสติกให้แน่น การปฏิบัติดูแลหลังจากทำการทาบแล้ว ๑. ควรให้น้ำแก่ต้นแม่พันธุ์กิ่งพันธุ์ดีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับสังเกตดูน้ำในตุ้มทาบที่ทาบแบบประกับซึ่งมักจะแห้งจึงต้องให้น้ำโดยการใช้หัวฉีดฉีดน้ำเข้าไปในถุงตุ้มทาบบ้างในบางครั้ง แต่สำหรับตุ้มทาบแบบเสียบมักจะไม่พบปัญหาตุ้มทาบแห้งเท่าใดนัก ยกเว้นทำการทาบในฤดูแล้ง ๒. กรณีที่ส่วนยอดกิ่งพันธุ์ดีหลังจากทาบแล้วมีโรคและแมลงเข้าทำลาย ควรกำจัดโดยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรค และแมลง ๓. กรณีที่มีพายุหรือฝนตกหนักต้องหาไม้มาช่วยพยุงหรือค้ำกิ่งไว้เพื่อไม่ให้กิ่งพันธุ์ที่ทำการทาบหักได้ ๔. กรณีที่ทำการทาบหลายตุ้มในกิ่งเดียวกันควรต้องหาไม้ค้ำ หรือเชือกโยงไว้กับลำต้นเพื่อไม่ให้กิ่งใหญ่หักเสียหาย ลักษณะของกิ่งทาบที่สามารถตัดไปชำได้ ๑. กิ่งทาบมีอายุประมาณ ๔๕-๖๐ วัน ๒. สังเกตรอยแผลของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีว่าประสานกันดี เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และนูน ๓. กระเปาะหรือตุ้มทาบีความชื้นพอประมาณณ (ค่อนข้างแห้ง) ๔. กระเปาะหรือตุ้มทาบมีรากเจริญออกมาใหม่เห็นชัด รากเป็นสีน้ำตาล และปลายรากมีสีขาว วิธีการตัดกิ่งทาบ ให้ตัดกิ่งพันธุ์ดีตรงระดับก้นกระเปาะหรือตุ้มทาบ เพื่อสะดวกในการย้ายชำและช่วยทำให้รอยต่อของแผลไม่หักหรือฉีกเนื่องจากน้ำหนักของส่วนยอดพันธุ์ดี เพราะส่วนโคนกิ่งพันธุ์ดีที่ยาวเลยรอยแผลจะช่วยพยุงน้ำหนักของส่วนปลายยอดพันธุ์ดีเอง การชำกิ่งทาบ เมื่อตัดกิ่งทาบจากต้นพันธุ์ดี ให้นำมาแกะเอาถุงพลาสติกออก แล้วชำลงในถุงพลาสติกสีดำขนาด ๘x๑๐ นิ้ว หรือกระถางดินเผาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ นิ้ว ที่บรรจุด้วยขุยมะพร้าวล้วน ๆ หรือดินผสม ปักหลักและผูกเชือกกิ่งทาบให้แน่น นำเข้าพักไว้ในโรงเรือนที่ร่ม รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ ๑๕-๒๐ วันหรือจนกิ่งพันธุ์ดีเริ่มแตกใบใหม่ จึงนำไปปลูกหรือจำหน่ายได้ สำหรับการชำกิ่งพันธุ์ดีที่ทิ้งใบง่าย เช่น ขนุน กระท้อน ควรพักไว้ในโรงเรือนที่มีความชื้นสูง เช่น กระโจม พลาสติก หรือโรงเรือนระบบพ่นหมอก จะช่วยลดปัญหาการทิ้งใบของพืชนั้นลงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น